Header Ads

Event Marketing การตลาด เชิงกิจกรรมที่ไม่ควรมองข้าม ตอนที่ 1


     วันนี้ผมได้พบกับบทความตอนหนึ่งจาก www.sada-dd.com เกี่ยวกับการตลาดเชิงกิจกรรม ซึ่งในปัจจุบันนี้ เกือบทุกบริษัท เกือบทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ ขนาดใหญ่ หรือขนาดย่อมต่างก็เห็นความสำคัญ ของ Event Marketing หรือการตลาดเชิงกิจกรรมกันมาก  และถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด ที่ได้ผลเพราะตรงกลุ่มเป้าหมาย เรียกร้องความสนใจของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี.... ผมเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคน ในการทำการตลาดเพื่อส่งเสริม แบรนด์ของตนเองให้เป็นที่รู้จัก  จากที่ผมรับปรึกษาการตลาด มาเกือบทุกองค์กรต่างเห็นผลที่น่าประทับใจของ Event Marketing องค์กรของคุณก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ควรจะทำกิจกรรมทางการตลาดดังกล่าว

     เนื่องจากบทความนี้มีรายละเอียดที่ค่อนข้างยาว ซึ่งค่อนข้างเจาะลึกพอสมควรผมจึงแบ่งบทความออกเป็น 3 ตอนให้ทุกคนได้อ่านกัน  ผมต้องขอบคุณ  www.SARA-DD.com สำหรับบทความที่ดีๆ เช่นนี้ครับ


     การตลาดยุคปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตลอดเวลา   การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นสินค้าใด สิ่งสำคัญที่สุด คือ การทำให้ลูกค้าได้มีโอกาสทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ และมั่นใจในคุณสมบัติของสินค้า    การจัดกิจกรรมทางการตลาดเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้

ประกอบการ   เพราะนอกจากจะเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นยอดขายหรือสร้างกระแสให้เกิดขึ้น ในช่วงใดช่วงหนึ่ง ทำให้สินค้าหรือกิจกรรมที่จัดขึ้นได้รับการกล่าวถึง   การจัดกิจกรรมให้เป็นที่สนใจและเป็นที่กล่าวขานกับทั้งกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย สื่อมวลชนและสาธารณชนเพื่อแนะนำสินค้า  เพื่อตอกย้ำความเหนียวแน่นกับลูกค้า เพื่อบอกกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของกิจการ ฯลฯ  เป็นวิธีการของการตลาดเชิงกิจกรรม (Event Marketing) ที่นับวันจะได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น   กิจกรรมในรูปแบบการตลาดเชิงกิจกรรมจึงเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่เป็นจุดเด่นหลักในยุคปัจจุบัน   ทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้มีโอกาสสัมผัสกับสินค้าอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น 

          ตามความหมายของนักการตลาด การตลาดเชิงกิจกรรม  คือ เครื่องมือทางการตลาดในรูปแบบกิจกรรม ที่แต่ละผลิตภัณฑ์จะคิดขึ้นมา เพื่อดึงดูดลูกค้าเป้าหมายให้มาเจอกับสินค้า และบริษัทสามารถสร้างยอดขาย ณ บริเวณจัดงานได้ทันที   การทำกิจกรรมมีหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น การจัดประกวด การจัดการแข่งขัน การจัดฉลอง การทำแรลลี่ การสัมมนา เป็นต้น (เกรียงไกร กาญจนะโภคิน, 2550)

          ในมุมของเกรียงไกร กาญจนะโภคิน นักบริหารผู้คว่ำหวอดในงานการตลาดเชิงกิจกรรม      คำว่า  Event marketing นั้นหมายถึง สื่อสารการตลาดผ่านกิจกรรม”   ส่วนคำจำกัดความของ Event marketing คือ เครื่องมือที่ถ่ายทอดความเป็นตัวตนของแบรนด์ผ่านประสบการณ์ตรงของกลุ่มเป้าหมายด้วยสัมผัสทั้ง 5 ของเขาเอง”   ซึ่งหมายความว่า  การให้ผู้บริโภคได้รับรู้ ว่าตราสินค้านั้นเป็นเช่นไร   โดยตราสินค้านั้นจะถูกสื่อผ่านออกมาให้กลุ่มเป้าหมายได้รับรู้และจดจำผ่านสัมผัสทั้งห้า คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส  จากประสบการณ์ตรงของตนเองที่ไม่สามารถถ่ายทอดได้ด้วยวิธีอื่นๆ    นอกจากนี้ยังให้ความหมายขององค์ประกอบของการตลาดเชิงกิจกรรม ว่าประกอบด้วย 

1) Brand experience คือ  เครื่องมือที่ถ่ายทอดความเป็นตัวตนของตราสินค้า
2) Deliver any messages คือ การสื่อสารถ่ายทอดผ่านกิจกรรม  
3) Gain more attention from niche targets คือ การเลือกกลุ่มเป้าหมายศึกษาลงไปในแนวลึก  และ 
4) Lead, support, amplification for any IMC tools คือ เครื่องมือผสมผสานเพิ่มแรงผลักสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผล (บิสิเนสไทย, 2550)

          การทำการตลาดเชิงกิจกรรมนับว่าเป็นภารกิจที่ท้าทายความสามารถของนักการตลาด ในการดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย  ดังจะเห็นได้ว่ากิจกรรมทางการตลาดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น สามารถสร้างความสนใจให้กับผู้บริโภคและแวดวงโฆษณาเป็นระยะๆ ทำให้เกิดกระแสของการแข่งขันการจัดกิจกรรมพิเศษ เพื่อฉีกแนวออกจากการจัดกิจกรรมแบบเดิมๆ หรือบางครั้งก็ดึงกลยุทธ์แบบเก่าๆ แต่ได้ผล  อาทิ วันสำคัญต่างๆ  งานเปิดตลาด งานวัดหรืองานประจำปี หรือการออกบูธในแหล่งชุมชน    แต่ในความเป็นจริงนั้นการจัดกิจกรรมทางการตลาดที่ดีนั้น ไม่เพียงอาศัยแค่งบประมาณหากแต่ต้องมีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ (Creation Idea) ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางเอาไว้    เพื่อจะให้ได้มาซึ่งจำนวนผู้บริโภคสินค้าที่เพิ่มขึ้น   รวมทั้งการดึงผู้บริโภคให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการตลาดเพื่อสร้างความรู้จักหรือประทับใจในตราสินค้ามากยิ่งขึ้น 

          ปัจจุบันสินค้าจำนวนไม่น้อยใช้การตลาดเชิงกิจกรรมในการประชาสัมพันธ์ธุรกิจของตนเอง  โดยเฉพาะตราสินค้าที่เป็นที่รู้จักดี  ที่ปรกติมักใช้เงินทุนไปกับการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ  เริ่มให้ความสนใจจัดสรรงบการตลาดในการตลาดเชิงกิจกรรมกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากยิ่งขึ้น   สำหรับตราสินค้าที่ยังไม่เป็นที่รู้จักการจัดอีเว้นท์หรือกิจกรรมการตลาดเป็นช่องทางที่ดีที่ทำให้ตราสินค้าเหล่านี้สามารถแจ้งเกิดได้โดยไม่ต้องใช้เงินทุนมากนัก (วิทยา ด่านธำรงกูล, 2548)  ซึ่งในความเป็นจริง การจัดกิจกรรมพิเศษนับเป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์   แต่ได้ผลมากกว่าวิธีการอื่นๆ เพราะเปิดโอกาสให้ลูกค้าเป้าหมายและบุคคลทั่วไปได้มีส่วนร่วมและเกิดการทำกิจกรรมร่วม หรือดำเนินการส่งเสริมการขายไปพร้อมกันด้วย ทำให้สามารถวัดผลทางการตลาดได้ชัดเจนกว่าการประชาสัมพันธ์ทั่วไป (เกษม พิพัฒน์เสรีธรรม, 2551)

>>>>>>>ติดตามอ่านกันได้ในตอนที่ 2 ครับ


ธวัชชัย สุวรรณสาร
ที่ปรึกษาทางด้านการตลาด และการสร้างแบรนด์
081-1689081
kengwealthy@gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น